วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แฟชั่นใหม่ ของม้งวัยมันส์


“สีเขียว กับสีม่วง เป็นสีที่คนม้งเดี๋ยวนี้นิยมกัน” สาวม้งร่างบางเจ้าของร้านขายเสื้อผ้า "วัยหวาน" บ้านเวียงแก้ว เล่าถึงกระแสนิยมในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา...
จากชุดที่เรียบง่าย พื้นดำ ผ้าคาดเอวสีแดง ปกฟ้า ปักลวดลายละเอียดด้วยด้ายหลากสีสัน เปลี่ยนเป็นผ้าสำเร็จมีลวดลาย เน้นสีม่วง และเขียว มีลายปักแทรกบริเวณคอและชายเสื้อบ้าง และเห็นลูกปัดร้อยเรียงต่อจากชายเสื้อและกระโปรง

ผ้าโพกศีรษะจากผ้าสีดำล้วนหรือสีดำเป็นพื้นมีลายปัก เปลี่ยนเป็นหมวกไหมพรมสีม่วงหรือเขียวระบายด้วยลูกปัดสีชมพูสลับเขียวเช่นกัน

แฟชั่นเสื้อผ้าม้งที่เปลี่ยนไปนั้นหลั่งไหลมาจากจีนตอนใต้ ซึ่งพ่อค้าคนจีนได้นำเสื้อผ้าม้งสำเร็จจากโรงงาน ที่แปลกตาไปทั้งสีสัน และรูปแบบ มาขายที่ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามอำเภอเชียงของ ทำให้มีพ่อค้าม้งไทยไปรับมาขาย ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะราคาถูก และคนม้งรุ่นใหม่นิยมการเย็บปักผ้าน้อยลง

ขณะเดียวกันจะมีการผสมผสานกันระหว่างสีสันและผ้าสำเร็จของชุดม้งแบบจีนตอนใต้กับชุดม้งเดิม โดยกลุ่มม้งช่วงอายุ 20-30 ปี ที่ยังปักผ้าจะพัฒนาแบบ สีสัน และลายปักให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่ยังคงเห็นความประณีตของงานปัก

"ซื้อผ้าสำเร็จลูกปัดมาจากห้วยทราย และนำมาเย็บและปักเอง ชุดนี้ใช้เวลาปักเกือบปี" สาวม้งกล่าว

ลายปักผ้าของคนม้งจะไม่มีการวางแบบก่อน แต่จะปักไปตามจินตนาการและความชำนาญของผู้ปัก จึงไม่มีการซ้ำแบบกัน

สิ่งที่ทำให้ชุดม้งมีคุณค่ามากขึ้นคือ เม็ดเงิน หากเป็นชุดที่เจ้าของตั้งใจทำอย่างประณีตก็จะลงทุนหาเม็ดเงินแท้มาประดับ

ผู้หญิงม้งจะนิยมเย็บปักชุดไว้คนละหนึ่งชุด โดยจะนำมาใส่ในเทศกาลปีใหม่ ที่แต่ละหมู่บ้านจะจัดงานกันพร้อมไปกับการฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยว

ในขณะที่ชุดม้งปัจจุบันหันไปหาผ้าสำเร็จมากขึ้น ทำให้ผ้าลายปักม้งเก่า ๆ มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้มีผู้นิยมผ้าเก่าเริ่มซื้อหาผ้าม้งเก่า ๆ มาเก็บ มาปรับแบบตัดเย็บใหม่ให้มีรูปแบบตามสมัยเป็นพัฒนางานผ้าต่างไปอีกรูปแบบหนึ่งมาวางจำหน่าย

"เดี๋ยวนี้คนม้งนิยมปักผ้าน้อยลง ขณะที่ผ้าที่ทำมือได้รับความนิยมมากขึ้น ในกลุ่มคนไทย และต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น ทางร้านได้หาซื้อผ้าของชาวเขา ทั้งของม้ง แลนแตน ไทยทรงดำ ฯลฯ มาปรับแต่งเย็บมือประยุกต์ให้เหมาะกับยุคสมัย นอกจากขายที่นี่แล้ว ยังส่งให้ร้านค้าที่จตุจักร ซอยละลายทรัพย์ ด้วย" เจ้าของร้านมะเก่าซึ่งจำหน่ายผ้าเก่าบริเวณท่าเรือน้ำลึกเล่าให้ฟัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น