วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อำเภอจอมทอง อย่าลืม ดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์


ดอยอินทนนท์ ยอดดอยสูงที่สุดของไทย ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) เดิมทีดอยนี้ชื่อว่า ดอยหลวง ซึ่งชื่อนี้ซ้ำกับดอยหลวงที่อำเภอเชียงดาว จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นดอยอินทนนท์ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ด้วยความที่พระองค์มีความรักในผืนป่าแห่งนี้มาก มีความผูกพันกับดอยนี้ถึงกับสั่งว่าเมื่อสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้น ไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ซึ่งก็คือกู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ บนยอดดอยอินทนนท์นั่นเอง

ดอยอินทนนท์ ยอดดอยสูงเสียดฟ้าแห่งนี้คือปลายสุดของเทือกเขาที่ทอดยาวต่อเนื่องมาจากเขา หิมาลัยในดินแดนไกลโพ้นของประเทศอินเดียและเนปาล ที่ทอดตัวต่อเนื่องมาถึงตอนเหนือของไทย ด้วยความสูงถึง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงได้มสภาพอากาศหนาวเย็นและชุ่มชื้น ส่วนยอดสุดถูกปกคลุมไว้ด้วยม่านหมอกและ ไอเย็นอยู่ชั่วนาตาปี สภาพโดยรวมของป่ามีความร่มครึ้มเป็นป่าดิบดึกดำบรรพ์ มีพืชพวกมอสส์ ฝอยลม ไลเคน เฟิน และกล้วยไม้เกาะเกี่ยวเลื้อยพันตามลำต้นของแม่ไม้ใหญ่อย่างหนาแน่น บนพื้นดินมีข้าวตอกฤาษีเขียวสดปูเป็นพรมธรรมชาติ ส่วนหนึ่งของยอดดอยอินทนนท์มีสภาพเป็นแอ่งน้ำซับที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ”อ่างกาหลวง” ซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีความพิเศษไม่ เหมือนเส้นทางอื่นๆ โดยจัดทำเป็นสะพานไม้ทอดยาวไปในป่าดิบเขาเพื่อศึกษานิเวศธรรมชาติ พร้อมกับชมพรรณไม้หลากหลายจากเขตหิมาลัย เช่น กุหลาบพันปี กุหลาบขาว กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และพืชกาฝากอย่างกระโถนพระฤาษี เป็นต้น รวมถึงสัตว์จากเขตหิมาลัย เช่น กวางผา หนูผีอ่างกา หนูน้ำดอยอ่างกา หนูผีหางยาวฟันแดง หนูผีป่าหางจู๋ ซาลแมนเดอร์ หรือ กะท่าง ฯลฯ

ดอยอินทนนท์ เป็นพื้นที่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นแหล่งดูนกที่สำคัญ เนื่องจากมีนกอาศัยอยู่กว่า 370 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมาในฤดูหนาว ไม่ว่าจะเป็นนกกินปลีหางยาวเขียวชนิดยอดดอยอ่างกา นกศิวะหางสีตาล นกศิวะปีกสีฟ้า นกกะรองทองแก้มขาว นกอีแพรดท้องเหลือง ฯลฯ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอื่นๆที่น่าไปเยือน เช่น น้ำตกแม่ยะ น้ำตกสิริภูมิ น้ำตกวชิรธาร และน้ำตกแม่ปาน อันยิ่งใหญ่และงดงาม รวมถึงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ที่อุดมไปด้วยพรรณไม้บนยอดดอย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น